302 คนดู · 21 Feb 2024
#ประเทศไทย#มหาสารคาม#กุดรัง#แหล่งท่องเที่ยว สร้อยดอกหมาก ผ้าไหมงาม เมืองมหาสารคามด้วยลวดลายการมัดหมี่ที่ละเอียดและปราณีต ผู้ทอต้องใช้เวลาและความพยายามในการสร้างผืนผ้าแต่ละชิ้นทำให้ผ้าสร้อยดอกหมากกลายเป็นอาภรณ์ที่มีค่าทั้งด้านความงามและเรื่องราว ด้วยลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของลายผ้าสร้อยดอกหมากที่มีความลงตัวในลวดลายของตัวเองทำให้ง่ายต่อการออกแบบ หากผู้สวมใส่นำผ้าไปนุ่งเป็นซิ่นแบบดั้งเดิมก็จะดูอ่อนช้อย สง่างามดุจนางพญา แต่ถ้าหากนำผ้าไปตัดเป็นเครื่องแต่งกายแบบสากลนิยมผ้าลายสร้อยดอกหมาก ก็จักแสดงออกถึงความเรียบหรูดูดีมีระดับ คุณสมบัติยืดหยุ่นแบบนี้คงมีอยู่ในผ้าพื้นเมืองเพียงไม่กี่แบบที่สามารถลงตัวได้กับทุกยุคของการออกแบบเครื่องแต่งกาย เรื่องราวของผ้าสร้อยดอกหมาก เริ่มขึ้นจาก ลายผ้าโบราณที่มีการทออยู่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัดคือมหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ เดิมเรียกว่าลายโคม 9 หรือลายปลาซิว มีลักษณะเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดใหญ่กว่าลายปัจจุบัน ต่อซ้ำๆกันทั้งผืน จนถึงปี 2540 จังหวัดมหาสารคามได้จัดให้มีการประกวดผ้าไหมเพื่อคัดเลือกเป็นผ้าประจำจังหวัด อ.ดุสิต โพธิจันทร์ (เจ้าหน้าที่ประจำอุตสาหกรรมภาค 5 ในขณะนั้น)ได้นำลายผ้าโบราณต้นแบบลายปลาซิวจากอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านที่บ้านกุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ได้ทดลองทอ ซึ่งเดิมแล้วชาวบ้านที่นี่ไม่ได้ ทอผ้าลายนี้ ในที่สุด ณ บ้านกุดรังแห่งนี้เองชาวบ้านได้ทำการพัฒนาลายปลาซิวแบบใหม่ขึ้นมาด้วยการย่อให้ดอกสี่เหลี่ยมเล็กลงและใส่ครอบปลายลายในทุกดอกของลายเรียกว่าสร้อยดอก ผ้าจึงมีความละเอียดมากขึ้น เมื่อนำผ้าเข้าประกวด ผ้าของบ้านกุดรัง เปล่งประกายโดดเด่นกว่าผืนใดๆที่วางเทียบกันอยู่ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผ้าประจำจังหวัดมหาสารคาม ผู้ว่าฯ ศิริเลิศ เมฆไพบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามขณะนั้นได้ให้ชื่อผ้าลายนี้ว่า ผ้าสร้อยดอกหมาก ด้วยลายผ้ามีลักษณะคล้ายดอกของต้นหมาก ผ้าสร้อยดอกหมากจึงเริ่มมีชื่อเสียงนับจากนั้นเป็นต้นมา